แนะนำ 5 วิธี ‘ไล่ตุ๊กแกออกจากบ้าน’ ใครกำลังมีปัญหา ลองมาดูเป็นแนวทางได้เลย

อีกหนึ่งสัตว์ประจำบ้านของหลายๆคนอย่าง ตุ๊กแก แม้จะมีความเชื่อโบราณว่าการที่มีตุ๊กแกมาอยู่ในบ้านจะทำให้ได้โชคลาภ หรือจะคอยช่วยกำจัดแมลงและสัตว์ร้ายที่คอยกวนใจให้คนในบ้านก็ตาม

แต่ ตุ๊กแก ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีคนหลายคนไม่อยากให้มาอยู่ประจำบ้านมากนัก เพราะฉะนั้นวันนี้ทางในบ้าน เลยจะมาแนะนำ 5 วิธีการไล่ตุ๊กแกออกจากบ้าน ที่แฟนเพจบอกว่าใช้มาแล้วได้ผลกันนะครับ….

 

gec

 

1. ยาฉุน

ยาฉุน หรือ ยาเส้น สำหรับมวนสูบ สามารถนำมาใช้ไล่ตุ๊กแกให้ออกจากบ้านไปได้ โดยนำมาผสมกับน้ำในปริมาณเข้มข้น จากนั้นนำไปเท หรือฉีดให้ทั่วบริเวณที่ตุ๊กแกอาศัยอยู่ เจ้าตุ๊กแกก็จะค่อย ๆ อพยพออกไปเอง เพราะตุ๊กแกส่วนใหญ่ไม่ชอบกลิ่นแรง ๆ ของยาฉุน

 

2. กิ่งยี่โถ

หากใครมี ต้นยี่โถ ปลูกไว้ในสวน ลองนำมาใช้เป็นตัวช่วยไล่ตุ๊กแก ด้วยการตัดกิ่งยี่โถ แล้วนำมาปักหรือวางไว้บริเวณที่ตุ๊กแกเกาะอยู่เป็นประจำ หรือใช้ใบยี่โถมาขยำ ๆ เพื่อเอากลิ่นก็ได้ เพราะกลิ่นของกิ่งยี่โถก็เป็นอีกหนึ่งกลิ่นที่เจ้าตุ๊กแกไม่ชอบนัก

 

3. ผ้าห่อลูกเหม็น

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ลูกเหม็น ดังนั้นเรื่องกลิ่นคงไม่ต้องสงสัย นอกจากจะใช้ไล่แมลงสาบได้แล้ว ยังสามารถนำมาห่อด้วยผ้าและนำไปแขวนหรือวางไว้บริเวณที่ตุ๊กแกชอบเกาะอยู่ได้ด้วย กลิ่นของลูกเหม็นจะช่วยขับไล่ตุ๊กแกให้ทนไม่ไหวและบอกลาจากบ้านไปเอง

 

4. ปูนแดงผสมยาเส้น

นำปูนแดงกับยาเส้น มาพันไว้ที่ปลายไม้ขนาดยาวพอสมควร จากนั้นแหย่ปลายไม้ไปที่ตุ๊กแก ตามสัญชาตญาณตุ๊กแกจะหันมางับปลายไม้ และจะเกิดอาการเมายาจนเกาะผนังไม่อยู่ หากตุ๊กแกร่วงลงพื้นก็สามารถกวาดออกไปนอกบ้านได้ หรือถ้างับติดอยู่ที่ปลายไม้ ก็ให้รีบนำไปทิ้งนอกบ้านก่อนตุ๊กแกจะหายเมายา

 

5. ยากันยุง

กลิ่นของยากันยุงนอกจากจะไล่ยุงได้แล้ว ยังช่วยไล่ตุ๊กแกให้ออกจากบ้านไปได้เหมือนกัน เพียงแค่จุดยากันยุงไว้บริเวณที่ตุ๊กแกอาศัยอยู่ จนมันทนไม่ได้และอพยพหนีไปเอง หรือถ้ามันเมายาจนหล่นลงมา ก็สามารถพามันออกไปนอกบ้านได้ง่าย ๆ แต่ทางที่ดีควรเก็บไว้เป็นทางเลือกหลัง ๆ จะดีกว่า เพราะกลิ่นยากันยุงก็อาจทำอันตรายกับคนในบ้านได้เช่นกัน โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็กจ้า

 

gecc

 

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ถึงกับมีคนมาเดินซื้อตามบ้าน ถามว่ามีตุ๊กแกไหมแล้วจะช่วยจับไปให้ (บางที่พร้อมกับให้เงินเราด้วย) พวกเขาจะนำไปดองเหล้าหรือดองยานั่นเองล่ะครับ ซึ่งในจังหวัดแถบภาคอีสานก็จะพบเจอได้บ่อยหน่อย

หวังว่าวิธีการพวกนี้คงจะพอเป็นแนวทางให้คนที่มีปัญหา ตุ๊กแก อยู่ภายในบ้าน ได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสม และอยู่กันอย่างสบายใจกันนะครับ….

Advertisement

คิดอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง...!?